รหัสขึ้นทะเบียน
THS 2556 4 00002
วันที่ประกาศตามราชกิจจานุเบกษา
19 พฤศจิกายน 2556
ชื่อแหล่งซากดึกดำบรรพ์
แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ภูแฝก
สถานที่ตั้ง
ห้วยผึ้ง ตำบล/แขวง ภูแล่นช้าง อำเภอ/เขต นาคู จังหวัด กาฬสินธุ์
พื้นที่
1 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา
กว้าง x ยาว
30.085 x 64.37 เมตร
ผู้ค้นพบ
เด็กหญิงกัลยามาศ สิงห์นาคลอง และเด็กหญิงพัชรี ไวแสน
วันที่ค้นพบ
16 พฤศจิกายน 2539
ผู้มีสิทธิ์ในที่ดิน
กรมป่าไม้, อยู่ในความดูแลของวนอุทยานภูแฝก ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
บริเวณที่พบรอยตีนเป็นส่วนที่หินทราย ชั้นบนถูกกัดเซาะออกไป ทำให้เปิดถึงชั้นที่มีรอย
ประทับ ส่วนด้านข้างเป็นหินทรายชั้นบนที่แสดงแนวชั้นหินเดิมให้เห็นชัดเจน และถูกปิดทับด้วย
ชั้นหินซึ่งผุพังอยู่กับที่ โดยส่วนบนสุดถูกคลุมด้วยชั้นดินที่ถูกยึดอยู่ด้วยรากไม้ในช่วงหน้าน้ำบริเวณรอยทางเดินไดโนเสาร์ที่แห้งแล้งจะกลายเป็นทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งเดิมเป็นตัวช่วยให้รอยทางเดินปรากฏแก่สายตาชาวโลก แต่ด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยาทางน้ำเดิมนี้จะกลายเป็นตัวทำลายรอยทางเดินเหล่านี้ โดยการพัดพาเศษหินจากบนเขาลงมาครูดกับพื้นหน้าหินทราย และรอยทางเดินรอยทางเดินไดโนเสาร์ภูแฝกที่ปรากฏชัดเจนประกอบด้วยรอยตีนขนาดใหญ่ที่มีสามนิ้วเรียงร้อยต่อกันให้เห็นชัดเจนถึงทิศทางที่เจ้าของรอยตีนมุ่งหน้าไปปลายนิ้วในสุดและนอกสุดกางออกจากกันเป็นมุมแหลม บริเวณส้นมีลักษณะค่อนข้างแหลมไม่มนป้าน ตรงปลายนิ้วในบางรอยตีนปรากฏรอยกรงเล็บจิกลงไปในเนื้อทราย
บริเวณโดยรอบวนอุทยานภูแฝก พบหมวดหินต่างๆ ของกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วย
หมวดหินภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว และภูพาน วางตัว เป็นแนวขอบด้านใต้ของเทือกเขาภูพาน โดยพบ
หมวดหินโคกกรวดบริเวณที่ราบขนานไปกับแนวเขา ทั้งหมดมีโครงสร้างเป็นแนวประทุนคว่ำ สลับ
ประทุนหงาย มีแกนอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ รอยทางเดินและรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อ และไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ที่พบบริเวณ ภูแฝกประทับอยู่บนชั้นหินทรายในหมวดหินพระวิหาร ของกลุ่มหินโคราชซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการ สะสมตัวบนภาคพื้นทวีป หมวดหินพระวิหารประกอบด้วยหินทรายเนื้อควอตซ์ที่มีขนาดชั้นหนา แสดงการวางชั้นเฉียงระดับ มีหินทรายแป้งและหินเคลย์แทรกสลับ
(1) ไดโนเสาร์กินเนื้อ รอยทางเดินหลักที่ชัดเจนที่สุดประกอบด้วยรอยตีนแบบสามนิ้วของไดโนเสาร์กินเนื้อ
จำนวน 7 รอย มีความยาวอยู่ระหว่าง 38 ถึง 43 เซนติเมตร กว้าง 34 ถึง 40 เซนติเมตร นิ้วกลาง
ยาวที่สุดประมาณ 23 ถึง 26 เซนติเมตร ในรอยที่ชัดที่สุดปรากฏรอยกรงเล็บขนาดใหญ่
นิ้วกลางถูกเรียกว่า นิ้วที่ 3 เนื่องจาก ไดโนเสาร์กินเนื้อมี 4 นิ้ว แต่นิ้วที่ 1 มีขนาดเล็ก
และอยู่สูง ประกอบกับท่าเดินแบบ เดินปลายตีน (เดินไม่เต็มฝ่าตีน) ของไดโนเสาร์ รอยนิ้วที่ 1
จึงไม่ปรากฏในรอยตีน
รอยทางเดินนี้เป็นรอยของไดโนเสาร์ขนาดค่อนข้างใหญ่ การคำนวณความสูงของสะโพก
จากความยาวรอยตีน ด้วยสมการของ Thulborn (1990) พบว่ามีสะโพกสูง 205 เซนติเมตร และ
เมื่อนำไปหาอัตราส่วนระหว่างระยะ Stride ต่อ ความสูงสะโพก (SL/H) พบว่าต่ำกว่า 2.0 คือมีค่า
เพียง 1.08 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ เทียบได้กับอัตราการเคลื่อนที่ประมาณ 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ซึ่งหมายความว่าไดโนเสาร์กำลังเดินอย่างช้าๆ
(2) ไดโนเสาร์กินพืช รอยตีนรูปวงรี 2 รอย ยาว 52 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร ปรากฏอยู่บนชั้นหินที่วางตัวอยู่เหนือชั้นที่พบรอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อ เป็นรอยตีนหลังของไดโนเสาร์กินพืช ด้านหน้าของรอยทั้งสองนี้มีรอยตีนหน้าขนาดเล็ก ปรากฏลางๆ แต่เนื่องจากรอยตีนชุดนี้ไม่ค่อยชัดเจนจึงไม่สามารถระบุวงศ์ของไดโนเสาร์ได้จากการศึกษารอยทางเดินของไดโนเสาร์คอยาวพวกกินพืช อายุครีเทเชียส
ตอนปลาย ในทวีปอเมริกาใต้ สามารถคำนวณความสูงถึงสะโพกได้เป็น 4.58 เท่า ของความยาวของรอยตีนหลัง (BERNARDO J. GONZALEZ RIGA, 2011) ถ้าหากในเบื้องต้นเราอนุมาณสมการดังกล่าวมาใช้กับรอยตีนไดโนเสาร์กินพืชของภูแฝก ก็ควรจะมีความสูงของสะโพก ประมาณ 4.58 x 52 = 238 เซนติเมตร หรือ 2.38 เมตร